ปวดข้อศอก (Golfer’s & Tennis Elbow)

สืบสานภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย

อาการปวดข้อศอก เป็นโรคที่เกิดจากการฉีกขาดหรือการอักเสบของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณข้อศอก ซึ่งมักเกิดขึ้น 2 บริเวณ คือ ปวดข้อศอกด้านใน( Golfer’s Elbow) และปวดข้อศอกด้านนอก (Tennis Elbow) ผู้ที่มีความเสี่ยงจะเป็นโรคนี้ ได้แก่ ผู้ที่ใช้แขน ข้อมือ ข้อศอกมากๆ เช่น แม่บ้าน ผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์นานๆ แม่ค้าส้มตำ ผู้ที่เล่นกีฬา เช่น เทนนิส หรือกอล์ฟ เป็นประจำ สำหรับอาการสำคัญของโรคนี้ ได้แก่ มีอาการปวดบริเวณปุ่มกระดูกด้านข้างข้อศอก อาจมีอาการปวดร้าวไปตามแขนร่วมด้วย ในผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรังอาจมีอาการแขนไม่มีแรงและปวดข้อมือร่วมด้วย เมื่อคว่ำมือหงายมือหรือกระดกข้อมือ จะรู้สึกปวดข้อศอกมากขึ้น

สำหรับวิธีปฏิบัติตัวในผู้ที่มีอาการปวดข้อศอก คือ ให้ประคบด้วยความร้อน 15 นาที เช้า เย็น โดยอาจใช้ผ้าชุบน้ำอุ่น หรือลูกประคบสมุนไพรในการประคบร้อน เนื่องจากน้ำมันหอมระเหยในสมุนไพรจะช่วยลดอาการปวดและความร้อนจากลูกประคบจะช่วยคลายกล้ามเนื้อ พยายามพักใช้งานกล้ามเนื้อข้อศอก หลีกเลี่ยงการถือของหนักๆ หมั่นออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น สำหรับผู้ที่มีอาการเจ็บข้อศอกด้านใน ให้กระดกข้อมือขึ้น แล้วเหยียดนิ้วมือออก โดยให้เหยียดข้อศอกตรง ผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บข้อศอกด้านนอก ให้ทำท่ากำมือแล้วงอข้อมือลง โดยให้เหยียดข้อศอกตรง ทำค้างไว้ 30 วินาที ประมาณ 10 ครั้ง เช้า เย็น นอกจากนี้อาจรักษาด้วยการนวดรักษาตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย เพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่แข็งตึงจากการสร้างพังผืด ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณข้อศอกยืดหยุ่นมากขึ้น ลดอาการปวด และกระจายเลือดลม

อาการปวดข้อศอกนั้นส่งผลต่อชีวิตประจำวัน และรบกวนการทำงาน ดังนั้นผู้ที่มีอาการปวดข้อศอกจึงควรปฏิบัติตัวให้เหมาะสม ทั้งการทำท่าบริหาร การหมั่นประคบความร้อน และการใช้งานข้อศอกที่ถูกต้อง รวมถึงการดูแลรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย เพื่อช่วยบรรเทาอาการของโรคดังกล่าว

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิง จาก กายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

อ่านต่อ เกร็ดความรู้สุขภาพที่น่าสนใจ